ติดตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายถ้าเฟดส่งสัญญาณเพิ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
November 23, 2020
โดยวันจันทร์ จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีของสิงคโปร์ไตรมาสที่สาม คาดว่าจะฟื้นตัว 9.5% จากไตรมาสก่อน แม้ยังหดตัว 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนประเทศไทย จะมีการรายงานตัวเลขการส่งออก (Customs Exports) คาดว่าจะหดตัวลดลงเหลือเพียง 4.9% ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะหดตัวลง 13.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้ว่าไทยยังเกินดุลการค้าและภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกทั่วทั้งเอเชียฟื้นตัวมากแล้ว
ส่วนในวันพุธ จะมีการประกาศรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งล่าสุด (FOMC Minutes) ที่ตลาดมองว่าเฟดอาจมีการส่งสัญญาณเตรียมซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคมนี้
ขณะเดียวกันก็จะมีการรายงานตัวเลขจีดีพีสหรัฐ ประจำไตรมาสที่สาม (ครั้งที่สอง) คาดว่าจะขยายตัว 33.2% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) โดยมีความน่าสนใจอยู่ที่การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับสู่ช่วงขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน ขณะที่ตลาดก็คาดว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) จะลดลงมาที่ระดับ 7.33 แสนตำแหน่ง
ฝั่งตลาดเงิน เชื่อว่าสัปดาห์นี้จะมีทิศทางเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk On) โดยมองบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีมีโอกาสปรับตัวขึ้นพร้อมการอ่อนค่าของดอลลาร์ ประเด็นหลักที่นักลงทุนสนใจคือการเพิ่มนโยบายทางการเงินเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด ถ้าไม่สามารถออกนโยบายทางการคลังได้ในช่วงนี้
ขณะที่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) น่าสนใจที่สุด เมื่อฟื้นตัวต่อเนื่องจากระดับ 1.27 ดอลลาร์ในช่วงเดือนกันยายน มาที่ 1.32 ดอลลาร์ในปัจจุบัน และมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ถ้าอังกฤษและสหภาพยุโรปสามารถหาข้อตกลงบางอย่างได้ก่อนสิ้นปีนี้
กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 91.0-93.0จุด ระดับปัจจุบัน 92.4จุด
ด้านเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นพร้อมกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ด้วยแรงหนุนจากการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลก หลังการประกาศนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์นี้ เชื่อว่านักลงทุนจะเข้าลงทุนในสกุลเงินเอเชียต่อโดยใช้ความคาดหวังเรื่องนโยบายการเงินของสหรัฐก่อนช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้า ขณะที่ในระยะยาว สินทรัพย์ทางการเงินในฝั่งเอเชียก็มีความน่าสนใจมากขึ้นเนื่องจากเป็นกระแสการฟื้นตัวของเศราฐกิจในภูมิภาคไปจนถึงช่วงไตรมาสที่หนึ่งปีหน้า
กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์