กนงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่กังวลปัญหาเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นจากครั้งก่อน

November 18, 2020

Bank of Thailand Benchmark Interest Rate

Actual: 0.50% Previous: 0.50%

KTBGM: 0.50% Consensus: 0.50%

**กนงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตามคาด หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ กนง. จึงต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

เราคงมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะคงไว้ที่ระดับ 0.50% ไปอย่างน้อย 3 ปีทั้งนี้ หากมีการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 ที่รุนแรง กนง. อาจใช้เครื่องมือการเงินอื่นๆ เช่น Debt monetization หรือ การคุมยีลด์เคิร์ฟ ควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังขนาดใหญ่

การประชุมครั้งถัดไป: 23 ธันวาคม 2563

กนงมีมติเอกฉันท์ให้ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

กนงมองว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าโดยตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ซึ่งรายได้ของแรงงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐอาจมีแนวโน้มต่ำกว่าคาด

ในการประชุมครั้งนี้ กนงกังวลการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้นจากการประชุมรอบก่อนโดย กนง. มองว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วจากแรงซื้อสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ของนักลงทุนต่างชาติ หลังปัจจัยความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ คลี่คลายลง ขณะที่การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ก็มีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่ง กนง. กังวลว่าการแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่ดังนั้น กนงจะติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและพร้อมใช้มาตรการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะมีการประกาศมาตรการในวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน นี้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2021 ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่จะค่อยๆปรับตัวขึ้น

เราเชื่อว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 0.50% อีก 3 ปี ส่วนมาตรการลดการแข็งค่าเงินบาทคงมีผลแค่ระยะสั้น

เรามองว่า ธปทจะไม่ใช้การลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะ ธปท. อยากจะรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ขณะเดียวกัน ธปท. ก็มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้จะยังมีความกังวลอยู่บ้าง ทั้งนี้ หากวัคซีน COVID-19 สามารถเริ่มแจกจ่ายได้ในครึ่งแรกของปีหน้าก็จะช่วยปรับมุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของ ธปท. ให้ดีขึ้น

หากมีการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2m ที่รุนแรง ทำให้ทั่วโลกและประเทศไทยกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้งซึ่งเรามองว่า กนง. อาจเลือกใช้เครื่องมือการเงินอื่นๆ เช่น การลดต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาล ผ่าน Debt Monetization ซึ่งต้องมาพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง (Fiscal boost) ขนาดใหญ่

เรามองว่า นโยบายลดการแข็งค่าของเงินบาท คงมีผลแค่ในระยะสั้นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและตลาดทุน ยังขาดความสมดุลเงินไหลเข้า/ออก ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทได้อย่างมีรูปธรรม จนกว่าจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี

กนง. “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%  กนง. “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%